Sunday, December 10, 2017

ทีมงานน้ำตาไหล ถ่ายคลิปหมีขั้วโลกอดอยาก-คุ้ยขยะกิน รอวันตายช้า ๆ




          ทีมงานถ่ายทำสารคดีสุดเศร้า ยืนน้ำตาไหลพราก ถ่ายคลิปหมีขั้วโลกอดอยากผอมแห้ง ประคองร่างคุ้ยถังขยะหาอาหารประทังชีวิต รอวันตายอย่างช้า ๆ


          เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2560 เว็บไซต์อินดิเพนเดนท์ เผยรายงานชวนเศร้าระบุว่า ทีมงานถ่ายทำสารคดีได้เปิดเผยภาพถ่ายสุดสะเทือนใจ แสดงให้เห็นชะตากรรมของหมีขั้วโลกตัวหนึ่ง ที่อยู่ในสภาพผอมโซจนเห็นกระดูก กำลังต่อสู้กับความหิวโหยเพื่อเอาชีวิตรอด พยายามพาร่างที่อ่อนล้าใกล้และจะหมดแรงเต็มที ไปคุ้ยเขี่ยหาอาหารในถังขยะกิน ภายในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำแข็ง ตามธรรมชาติที่มันควรจะเป็น  


          พอล นิกเลน ช่างภาพและผู้สร้างภาพยนตร์จากกลุ่มซีเลกาซี ( Sea Legacy) องค์กรเอกชนด้านสังคม พร้อมกับกลุ่มทีมงาน เป็นผู้พบเห็นหมีขั้วโลกตัวดังกล่าว บริเวณเกาะแบฟฟิน ของประเทศแคนาดา ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา โดยนิกเลน เผยว่า เขาเคยเห็นหมีที่อาศัยเติบโตในป่าแถบพื้นที่ห่างไกลทางตอนเหนือของแคนาดา แต่สำหรับหมีขั้วโลกนั้น พวกเขาไม่ได้เตรียมใจที่จะเห็นภาพเช่นนี้นี้มาก่อน 

 
          "พวกเรายืนร้องไห้กันที่ตรงนั้น ถ่ายไปพร้อมน้ำตาที่ไหลพรากอาบแก้ม" นิกเลน กล่าวกับรายงานของเนชั่นแนลจีโอกราฟิก

  
           ทั้งนี้ นิกเลน เผยว่า เขาอยากที่จะเข้าไปช่วยเหลือ แต่ไร้ซึ่งหนทาง เนื่องจากไม่มีทั้งปืนยิงยาสลบ หรือเนื้อสัตว์ไขมันสูงสำหรับมัน พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะบันทึกภาพของมันเอาไว้ เพื่อที่ว่าการตายของมันจะได้ไม่สูญเปล่า

 
          "นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าหมีขั้วโลกกำลังจะสูญพันธุ์ ผมอยากให้ผู้คนได้ตระหนักว่ามันเป็นเช่นไร หมีกำลังจะอดตาย และนี่แหละคือสภาพของมัน" นิกเลน กล่าว

 
          รายงานเผยว่า หมีขั้วโลกอาศัยทะเลน้ำแข็งในการออกล่าหาอาหารหลักของมัน อันได้แก่ แมวน้ำ แต่ภายหลังจากเกิดภาวะโลกร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบให้น้ำแข็งในแถบอาร์กติกละลาย และหมีเหล่านั้นต้องประสบภาวะอดอยาก ทั้งนี้ ในรายงานการวิจัยของสหภาพภูมิศาสตร์ยุโรป (European Geosciences Union) ที่ตีพิมพ์เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ยังเผยว่า การละลายของทะเลน้ำแข็งยังคงเป็นภัยที่คุกคามประชากรหมีขั้วโลก นอกจากนี้ ยังมีรายงานเผยว่า หมีใช้ความรู้สึกของพวกมัน ในการดมกลิ่นหาเหยื่อ โดยพวกมันต้องอาศัยทิศทางของลม แต่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ส่งผลให้พวกมันรับรู้กลิ่นของเหยื่อได้ยากมากขึ้นด้วย 

  
ภาพจาก Instagram paulnicklen
https://hilight.kapook.com/view/164947