Wednesday, November 18, 2015

ญี่ปุ่นไอเดียเก๋ ผุดรถไฟความเร็วเต่า สำหรับคนชอบดื่มด่ำชมวิว




             ญี่ปุ่นผุดรถไฟเต่าหิมะ รถไฟขบวนใหม่ที่จะวิ่งช้าเป็นพิเศษ เพื่อให้นักท่องเที่ยวดื่มด่ำกับบรรยากาศของชนบทได้อย่างเต็มที่

             ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อในเรื่องการเดินทางอันแสนรวดเร็ว ด้วยรถไฟความเร็วสูงอย่าง ชินคังเซ็น คงจะเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่งหากจะมีผู้ขอแหวกแนว ผุดรถไฟสายใหม่ที่วิ่งช้าเหมือนเต่า ดังที่เว็บไซต์ร็อคเกตนิวส์ 24 ได้มีรายงานเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558


             ย้อนกลับไปในยุคที่รถไฟชินคังเซ็น ยังวิ่งให้บริการเฉพาะเส้นทางแถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะฮอนชู เชื่อมต่อเมืองหลัก ๆ อย่าง โตเกียว นาโงย่า เกียวโต และโอซาก้า ให้เข้าถึงกัน บริษัท โฮกุเอสึ เอ็กซ์เพรส ซึ่งให้บริการรถไฟ "กระต่ายหิมะ" ในเส้นทางสายโฮกุโฮกุ ก็ยังสามารถทำกำไรได้อย่างงดงาม ด้วยการเป็นรถไฟที่ผู้โดยสารจำเป็นต้องใช้บริการในการเดินทางระหว่างเมือง คันโต-โฮกุริกุ


                แต่แล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รถไฟโฮกุริกุ ชินคังเซ็น ได้เปิดตัวเพื่อให้บริการในสายโฮกุโฮกุ ทำให้รถไฟกระต่ายหิมะที่วิ่งด้วยความเร็ว 88.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หมดโอกาสแข่งขันทางการตลาดไปในทันที ทำให้ทางบริษัทต้องหาทางออกใหม่เพื่อความอยู่รอด และนั่นเองรถไฟ "เต่าหิมะ" ของบริษัท โฮกุเอสึ เอ็กซ์เพรส จึงถือกำเนิดขึ้น


             ด้วยไอเดียที่อ้างอิงจากนิทานกระต่ายกับเต่า รถไฟเต่าหิมะ ซึ่งมีความยาว 2 ตู้ขบวน ได้ถือกำเนิดขึ้นในฐานะรถไฟสาย "ช้าเป็นพิเศษ" โดยเบนเป้าจากการแข่งขันในด้านความเร็วของการเดินทาง มามุ่งให้บริการขนส่งให้ท้องถิ่นรวมถึงการท่องเที่ยวแทน ซึ่งรถไฟเต่าหิมะจะพาผู้โดยสารออกเดินทางด้วยความเร็ว 14 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


    เมื่อเทียบกับรถไฟกระต่ายหิมะที่นำผู้โดยสารเดินทางบนสายโฮกุโฮกุ ซึ่งมีระยะทาง 59.9 กิโลเมตร โดยใช้ระยะเวลาเพียง 57 นาที รถไฟเต่าหิมะกลับต้องใช้เวลานานถึง 4 ชั่วโมง 4 นาที ในการเดินทางบนเส้นทางเดียวกัน ไม่ต้องสงสัยเลยหากรถไฟขบวนอื่น ๆ จะวิ่งแซงเต่าหิมะไป หรือแม้แต่นักวิ่งมาราธอนอาจจะวิ่งนำมันได้ แต่ด้วยความเร็วในระดับนี้เองที่ช่วยให้ผู้เดินทางสามารถดื่มด่ำไปกับ ทัศนียภาพอันแสนงดงามในชนบทของนิอิกาตะ และอาจจะกลายมาเป็นชัยชนะใหม่ที่รออยู่ของบริษัท โฮกุเอสึ เอ็กซ์เพรส ก็เป็นได้

http://travel.kapook.com/view134518.html

No comments:

Post a Comment